ขั้นตอนการทำนา

การเตรียมดิน

การเตรียมดินสำหรับการทำนา ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่น น้ำ ภูมิอากาศ ลักษณะพื้นที่ ตลอดจนแบบวิธีการทำนา และเครื่องมือการเตรียมดินที่แตกต่างกัน การเตรียมดินแยกได้เป็น 2 ขั้นตอนคือ
1. การไถดะ และไถแปร คือ การพลิกหน้าดิน ตากดินให้แห้ง ตลอดจนเป็นการคลุกเคล้าฟาง วัชพืช ฯลฯ ลงไปในดิน เครื่องมือที่ใช้ อาจเป็น รถไถเดินตามจนถึง รถแทรกเตอร์
2. การคราดหรือใช้ลูกทุบ คือการกำจัดวัชพืช ตลอดจนการทำให้ดินแตกตัว และเป็นเทือกพร้อมที่จะปักดำได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำต่อจากขั้นตอนที่ 1 และขังน้ำไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้มีสภาพดินที่เหมาะสมในการคราดหรือการใช้ลูกทุบ ในบางพื้นที่อาจมีการใช้ โรตารี
ข้อควรระวังในการเตรียมดิน
1. ควรปล่อยให้ดินนามีโอกาสแห้งสนิท เป็นระยะเวลานานพอสมควร และถ้าสามารถไถพลิกดินล่างขึ้นมาตากให้แห้งได้ก็จะดียิ่งขึ้น ถ้าดินเปียกน้ำติดต่อกันโดยไม่มีโอกาสแห้ง จะเกิดการสะสมของสารพิษ เช่นแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) เป็นต้น ซึ่งถ้าแก๊สนี้มีปริมาณมากก็จะเป็นอันตรายต่อต้นข้าวได้
2. ควรจะมีการปล่อยน้ำขังนาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้กระบวนการหมักและสลายตัวของอินทรียวัตถุเสร็จสิ้นเสียก่อน ดินจะปรับตัวอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว และจะปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นออกมาให้แก่ต้นข้าว
3. ดินกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน เป็นดินที่มีสารที่จะก่อให้เกิดความเป็นกรด (pH ต่ำ) แก่ดินได้มากเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ดินพวกนี้จึงจำเป็นต้องขังน้ำไว้ตลอด เพื่อไม่ให้สารดังกล่าวได้สัมผัสกับออกซิเจน จึงควรที่จะขังน้ำไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนปักดำข้าว เพื่อให้ปฏิกิริยาต่างๆ ตลอดจนความเป็นกรดของดินลดลงสู่สภาวะปกติ และค่อนข้างเป็นกลางเสียก่อน ดินกลุ่มนี้ถ้ามีการขังน้ำตลอดปี หรือมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง ก็จะเป็นการลดสภาวะความเป็นกรดของดิน และการเกิดสารพิษลงได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของข้าวสูงขึ้น




การตกกล้า
การเตรียมต้นกล้าให้ได้ต้นที่แข็งแรง เมื่อนำไปปักดำก็จะได้ข้าวที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว และมีโอกาสให้ผลผลิตสูง ต้นกล้าที่แข็งแรงดีต้องมีการเจริญเติบโตและความสูงสม่ำเสมอกันทั้งแปลง มีกาบใบสั้น มีรากมากและรากขนาดใหญ่ ไม่มีโรคและแมลงทำลาย
        - การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ที่ใช้ตกกล้าต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธ์ ปราศจากสิ่งเจือปน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง (ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์) ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง
        - การแช่และหุ้มเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดข้าวที่ได้เตรียมไว้บรรจุในภาชนะ นำไปแช่ในน้ำสะอาด นานประมาณ 12-24 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาวางบนพื้นที่น้ำไม่ขัง และมีการถ่ายเทของอากาศดี นำกระสอบป่านชุบน้ำจนชุ่มมาหุ้มเมล็ดพันธุ์โดยรอบ รดน้ำทุกเช้าและเย็น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น หุ้มเมล็ดพันธุ์ไว้นานประมาณ 30-48 ชั่วโมง เมล็ดข้าวจะงอกขนาด “ตุ่มตา” (มียอดและรากเล็กน้อยโดยรากจะยาวกว่ายอด) พร้อมที่จะนำไปหว่านได้
เมล็ดพันธ์ข้าวที่จะนำไปตกกล้า
ในการหุ้มเมล็ดพันธุ์นั้น ควรวางเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง และขนาดของกองเมล็ดพันธุ์ต้องไม่โตมากเกินไป หรือบรรจุถุงขนาดใหญ่เกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงในกองข้าว เพราะถ้าอุณหภูมิสูงมากเกินไปเมล็ดพันธุ์ข้าวจะตาย ถ้าอุณหภูมิพอเหมาะข้าวจะงอกเร็ว และสม่ำเสมอกันตลอดทั้งกอง 
วิธีปลูกข้าว
 
การทำนาโดยทั่วไปมี 3 วิธี  คือ  นาหว่าน  นาหยอด และนาดำ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่  เช่นที่สูง ที่ลุ่ม  ที่น้ำลึก  สภาพน้ำ  เช่น  เขตน้ำฝน  เขตชลประทาน  สภาพสังคม  เช่น  มีแรงงานหรือไม่มีแรงงาน  สภาพเศรษฐกิจ   เช่น  มีเงินทุนมากหรือน้อย  มีรายละเอียด  คือ 
1.      นาหว่าน  ส่วนมากนิยม เนื่องจากขาดแคลนแรงงานสภาพน้ำจำกัด  ยากแก่การปักดำข้าว  หรือพื้นที่อยู่ในเขตน้ำฝนไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้  เป็นการปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหว่านลงไปในนาที่เตรียมดินไว้แล้ว มี 2 วิธี คือ (1) หว่านข้าวแห้งหรือหว่านสำรวย (2) หว่านข้าวตม หรือข้าวงอกหรือหว่านเพาะเลย
(1) การหว่านข้าวแห้ง   มักใช้วิธีนี้ในเขตนาน้ำฝนหรือในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำไม่ได้  โดยเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไม่ได้เพาะให้งอกเสียก่อน  เรียกอีกอย่าง คือ หว่านสำรวย เป็นการหว่านคอยฝนในสภาพดินแห้ง โดยหว่านหลังจากไถแปร  เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวที่หว่านไว้จะได้งอก  บางกรณีเพื่อป้องกันการทำลายของศัตรูข้าว จะมีการคราดกลบเมล็ดหลังการหว่าน  ซึ่งอาจเรียกว่าหว่านคราดกลบ
อีกกรณีหนึ่งเป็นการหว่านในสภาพดินเปียก คือ มีฝนตกเมื่อไถแปรแล้ว ก็หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวตามทันทีแล้วคราดกลบ  วิธีนี้เรียกว่า หว่านหลังขี้ไถ การหว่านข้าวแห้งจะใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณไร่ละ 10 – 15 กก.
(2)     การหว่านข้าวตม  หรือหว่านข้าวงอก  หรือหว่านเพาะเลย  เป็นการหว่านโดยการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการเพาะให้งอกกล่าว คือ แช่น้ำสะอาด  12 – 24 ชั่วโมง แล้วนำไปหุ้ม 30 – 48 ชม.  จนมีรากงอกยาวประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร  ที่เรียกว่า  ตุ่มตา  แล้วหว่านลงในพื้นที่นาที่เตรียมไว้อย่างดี  คือ  ไถดะ  ไถแปร  และทำเทือกจนราบเรียบ  วิธีนี้บางกรณีในเขตนาน้ำฝนควบคุมน้ำได้ยาก  จำเป็นต้องหว่านในเทือกที่มีน้ำขัง  แต่ในเขตชลประทาน ควรระบายน้ำให้เทือกนุ่มพอดี  สังเกตจากเมล็ดข้าวที่หว่านจะจมในเทือกประมาณครึ่งหนึ่งของเมล็ดแนวนอนเมื่อ ข้าวงอกแล้วค่อยๆระบายน้ำเข้านา  แต่ไม่ให้ท่วมยอดต้นข้าว การหว่านน้ำตม ถ้าเตรียมดินดีวัชพืชน้อยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ  10-15 กก. แต่ถ้าเตรียมดินไม่ดี มีวัชพืชมากในอัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ  15 – 20 กก.
2.      นาหยอด  นิยมในสภาพพื้นที่สูง  พื้นที่ไร่  หรือในสภาพนาที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ใช้เมล็ดข้าวแห้งที่ไม่ได้เพาะให้งอก  หยอดลงไปในหลุมที่เตรียมไว้โดยใช้จอบเสียม  หรือใช้ไม้กระทุ้ง  ตลอดจนใช้เครื่องหยอด หรืออีกวิธี โดยการโรยเป็นแถว  ในร่องที่ทำเตรียมไว้แล้วกลบดินฝังเมล็ดข้าว เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวที่หยอดจะงอก ในสภาพไร่หรือที่สูง  อาจทำเป็นหลุมลึก 4-5 เซนติเมตร  หยอดเมล็ดข้าวหลุมละ 5-6 เมล็ด  ส่วนในที่ราบสูง  เช่น  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถทำร่องห่างกัน 25-30 เซนติเมตร  นาหยอดจะใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไรประมาณ 8-10 กก.
3.      นาดำ  เป็นวิธีการปลูกข้าว โดยแบ่งการปลูกเป็น 2 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นตอนการตกกล้า (2) ขั้นตอนการปักดำ  ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปักดำน้อยลง เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ดี การปักดำ เป็นวิธีการปลูกข้าวที่สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีกว่านาหว่าน